วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

วัฒนธรรมและประเพณีไทย

ภาคใต้
   ประเพณีชักพระ เป็นประเพณีท้องถิ่นในภาคใต้ตอนกลาง เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธาในพระ พุทธศาสนา และวิถีชีวิตชาวใต้ที่มีความผูกพันกับน้ำ ประเพณีชักพระหรือลากพระจัดขึ้นในช่วงออกพรรษาโดยเฉพาะในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ด้วยความเชื่อว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาว ดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ จึงมีการจัดงานเพื่อแสดงความยินดี ประชาชนจึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับ บนบุษบกที่จัดเตรียมไว้ แล้วแห่แหนไปยังที่ประทับ ส่วนใหญ่จะเป็นการจัดขบวนทางเรือ แต่บริเวณใดที่ ห่างไกลแม่น้ำก็จะจัดพิธีทางบก  เพิ่มเติม>>




ภาคกลาง
   ประเพณีรับบัว เป็นประเพณีของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในเทศกาลออกพรรษา ตำนานของประเพณี รับบัวตำนานหนึ่งเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้นอำเภอบางพลี เป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงมาก เมื่อถึงช่วงออกพรรษา ชาวบ้านที่อยู่ใกล้อำเภอบางพลี โดยเฉพาะที่อำเภอ เมือง และอำเภอพระประแดง จะเดินทางไปเก็บดอกบัว ที่อำเภอบางพลี เพื่อนำมาประกอบพิธีทำบุญในวันออก
พรรษา ต่อมาชาวบางพลีเป็นผู้เก็บดอกบัวไว้แจกให้ ชาวบ้านต่างถิ่น เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน  เพิ่มเติม>>








ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
    ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีที่ชาวอีสานจัดขึ้นในเดือน 6 เรียกกันว่า "บุญเดือนหก" มีจุดมุ่งหมายเพื่อ เป็นงานรื่นเริงครั้งใหญ่ก่อนการเริ่มทำนา และเป็นการสร้างกำลังใจว่าการทำนาในปีนั้นจะได้ผลดี โดยมี ความเชื่อว่าเทวดาคือ "พระยาแถน" สามารถบัลดาลให้พืชผลในท้องนาอุดมสมบูรณ์ หากบูชาเซ่นสรวงให้ พระยาแถนพอใจก็จะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล การทำนาได้ผลธัญญาหารบริบูรณ์ โดยเฉพาะถ้าหมู่บ้านใคร ทำบุญบั้งไฟติดต่อกันทุก 3 ปี  เพิ่มเติม>>










ภาคเหนือ
       ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี ชาวเหนือหรือที่เรียกกันว่า
"ชาวล้านนา"มีความเชื่อในเรื่องการนับถือผีตั้งแต่เดิม โดย เชื่อว่าสถานที่แทบทุกแห่ง มีผีให้ความคุ้มครองรักษาอยู่ ความเชื่อนี้จึงมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เห็นได้ จากขนบธรรมเนียม ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ของชาว เหนือ เช่น ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเหนือ (พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย) เมื่อไปวัดฟัง ธรรมก็จะประกอบพิธีเลี้ยงผี คือ จัดหาอาหารคาว-หวานเซ่น สังเวยผีปู่ย่าด้วย เพิ่มเติม>>












ความหมายและความสำคัญของวัฒนธรรม
   ความหมายของวัฒนธรรม
          วัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละสังคม ซึ่งแต่ละสังคมจะต้องมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป
                พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้นิยามความหมายของวัฒนธรรมไว้ 2 นัย ดังนี้
                1.สิ่งที่ทำความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย, วัฒนธรรมในการแต่งกาย เป็นต้น
                2.วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน, วัฒนธรรมชาวเขา เป็นต้น

                วัฒนธรรม เป็นแบบแผนที่ครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ วัฒนธรรมพื้นฐานและความจำเป็นของมนุษย์ ได้แก่ ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค สำหรับการปรับตัว แก้ปัญหา พัฒนาวิถีการดำเนินชีวิต และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งทางกาย เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และทางใจ เช่น ศาสนา ประเพณี ความเชื่อต่างๆ เป็นต้น

ความสำคัญของวัฒนธรรม

            วัฒนธรรมทำให้คนในสังคมสามารถบ่งชี้สภาพแบบแผนการดำเนินชีวิต และยังทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ใช้วัฒนธรรมในการตอบสนองความต้องการของชีวิตและปรับตัวให้เข้ากับสังคมแต่ละแห่ง วัฒนธรรมจึงสามารถเป็นตัวก่อให้เกิดความสมานฉันท์ ที่เกิดจากความภูมิใจและการสะท้อนตัวตนของความเป็นคนในสังคมได้
                วัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

                1.  วัตถุธรรม หมายถึง วัฒนธรรมด้านสิ่งประดิษฐ์ที่มองเห็นและสัมผัสได้ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค บ้านเรือน เป็นต้น
                2. คติธรรม หมายถึง วัฒนธรรมเกี่ยวกับหลักการดำเนินชีวิต ซึ่งจะได้มาจากหลักธรรมทางศาสนา
                3. เนติธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางกฎหมาย เพื่อการบังคับและควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ
                4. สหธรรม หมายถึง วัฒนธรรมทางสังคม เพื่อการอยูร่วมกันอย่างสงบสุขและปลอดภัย รวมทั้งระเบียบมารยาทที่ใช้ติดต่อภายในสังคม เช่น การไหว้ การแต่งกาย เป็นต้น

ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

          วัฒนธรรมไทยเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย เป็นผลรวมจากความรู้ ความคิด สติปัญญาของมนุษย์ ที่สั่งสมสืบต่อกันมาโดยผ่านการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของสังคมไทย ทั้งวัฒนธรรมเดิมของไทยและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆ ซึ่งถูกนำมาปรับปรุง ผสมผสาน และกล่อมเกลาจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปในที่สุด

                วัฒนธรรมไทยมีลักษณะและความสำคัญที่สะท้อนค่านิยมดังนี้
                1. สร้างความรักและความผูกพันในครอบครัว ตัวอย่างเช่น วันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในอดีตนั้น ความรักและความผูกพันจะแสดงออกมาโดยบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่จะจัดเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แก่บุตรธิดา พร้อมเครื่องประดับตามฐานะเพื่อไปทำบุญ ขณะที่บุตรธิดาจะจัดเสื้อผ้าให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังพิธีรดน้ำดำหัว ส่วนในปัจจุบันคนไทยจะกลับบ้านเพื่อรดน้ำและขอพรจากบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
                2. ความเคารพกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ วิถีชีวิตไทยถือความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การตอบแทนพระคุณจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น การบรรพชาอุปสมบทของชายไทยเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่เล็กจนโต หรือการระลึกถึงพระคุณของบรรพ-บุรุษในวันสารทไทย โดยจัดพิธีบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว
                3. ความศรัทธาในการทำบุญให้ทาน  ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น คนไทยแต่ละครอบครัวจะเตรียมของสำหรับทำบุญตักบาตรด้วยจิตใจศรัทธา นอกจากนี้การทำบุญยังเป็นสิ่งที่คนไทยถือปฏิบัติก่อนการเริ่มงานประเพณีต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา ฯลฯ ความศรัทธาในการทำบุญ ยังจะได้เห็นจากการจัดให้มีการทอดกฐิน การทอดผ้าป่าเพื่อให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้มีสิ่งของเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อการปฏิบัติธรรม ด้วยศรัทธาในการทำบุญนี้เองที่ทำให้สามารถสืบต่ออายุพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
            4. เอกลักษณ์ทางศิลปกรรม ซึ่งจะแสดงออกมาทั้งในด้านสถาปัตยกรรม เช่น การสร้างวัด บ้านเรือน ด้านจิตรกรรม เช่น การวาดภาพฝาผนัง ด้านวรรณกรรม เช่น ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น
           5. การสร้างความสามัคคีในชุมชน ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ในวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะไปช่วยกันก่อเจดีย์ทราย ซึ่งนอกจากเป็นการทำบุญแล้วยังแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน ในการที่จะทำนุบำรุงวัดในหมู่บ้านของตนให้เจริญยิ่งขึ้นอีกด้วย หรือในวันสงกรานต์ สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนและสื่งของเครื่องใช้เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ หรือในวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดเตรียมสิ่งของสำหรับไปทำบุญ
          6. เอกลักษณ์ทางภาษา ชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น การใช้ภาษาของคนไทย มีลักษณะสำคัญคือ การเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ซึ่งจะพบได้ในการละเล่นทั่วไป เช่น ลำตัด มโนราห์ เป็นต้น การใช้ภาษาในงานนี้ จะมีการใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้งกินใจ มีความหมาย และยังแฝงไปด้วยไหวพริบปฏิภาณในการคิดคำโต้ตอบอีกด้วย
         7. ความยับยั้งใจและความมีระเบียบวินัย ตัวอย่างเช่น การผิดผี หมายถึง การต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา การละเมิดกฎเกณฑ์ถือว่าผิดผี ซึ่งต้องมีการขอขมาและมีการลงโทษโดยผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นผู้แนะนำ ตักเตือนและดำเนินการ เช่น หนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้อง ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างวินัยและการยับยั้งชั่งใจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำเกินกว่าสมควร ถ้าใครประพฤติผิดจะถือว่า ผิดผีต้องมีการลงโทษโดยการ เสียผีคือ มีการชดใช้การกระทำความผิดนั้น
                อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมไทยดังกล่าวข้างต้น กำลังจะถูกลบเลือนไปในสภาพปัจจุบัน สุนทรียภาพอันเกิดจากภาษาและดนตรีที่ไพเราะเพราะพริ้งด้วยท่วงทำนองได้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมันใหม่จากต่างชาติในวันสงกรานต์ พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึงความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่จะมีให้แก่ผู้อื่น ความสุขจากการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยบุคคลบางกลุ่ม ไม่สนใจในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ในวันไหว้ครูกิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป พิธีกรรมอันเคยสง่างามถูกกระทำแบบง่ายๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
                ถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่เราจะเรียกร้องให้นำเอาวัฒนธรรมไทยอันดีงามทั้งหมดในอดีตกลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบันแต่ถ้าคนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัยก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้หนึ่งที่ได้จรรโลงวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแนวทางอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม

                วัฒนธรรม เป็นสิ่งที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นมรดกทางสังคม แต่เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวัฒนธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย
            วัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อดีตของสังคมไทยที่ควรเปลี่ยนแปลง

                1. การทำงาน คนไทยมักทำงานจับจด ชอบทำงานสบายที่ได้เงินดีโดยไม่ต้องเปลืองแรง มักโทษโชคชะตาที่ไม่เข้าข้างตน ไม่มีระเบียบวินัย สิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น คือ

             1.1 ความขยันและอดทน ทำงานหนัก และพึ่งตนเอง พื้นฐานของความสำเร็จของชีวิตและสังคมจะขึ้นอยู่กับความขยันและอดทนของแต่ละคนเป็นสำคัญ ในระบบการศึกษาของชาติที่พัฒนา เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้สอนให้คนในชาติขยัน อดทน ทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก นักเรียนต้องศึกษาอย่างจริงจังต้องใช้เวลากับวิชาต่างๆอย่างมากพอ ต้องอดทนต่อการเรียนอย่างเต็มที่ ดังนั้นความสำเร็จในการศึกษาของนักเรียนของชาติที่พัฒนาจึงขึ้นอยู่กับความขยันการอดทนและการทำงานหนักของเด็ก และสิ่งนี้จะถูกปลูกฝังและสั่งสมไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่  เมื่อคนในชาติเหล่านี้มีคุณภาพสูงมาตั้งแต่ต้น พวกเขาก็จะกลายเป็นกลไลสำคัญที่ผลักดันให้ชาติของเขาเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นตลอดเวลา

                1.2 การมีระเบียบวินัย  ในสถาบันการศึกษาต้องสอนให้เด็กปฎิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ตั้งใจเรียน แต่งกายถูกระเบียบ ไม่คุยกันหรือใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะอยู่ในห้องเรียน ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นคือเด็กจะคลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียนวินัย ทำตามกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆของสังคมได้อย่างถูกต้อง

                2.ความเป็นระบบและบูรณาการ สังคมไทยจะสอนให้คนมองแบบแยกส่วน ไม่เชื่อมต่อกัน ไม่นิยมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนคือ การมองสิ่งต่างๆให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เช่น ศิลปะ ดนตรี พลศีกษา การทำงานบ้าน การบำเพ็ญประโยชน์ การทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ควรจะนำมาเชื่อมโยงและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ที่เท่าเทียมกันกับวิชาในชั้นเรียนกล่าวคือ ในกระบวณการเรียนการสอน นักเรียนจะต้องถูกเข้มงวดในเรื่องวิชาการ แต่ในขณะเดียวกัน นักเรียนจะต้องเคร่งครัดในเรื่องในการทำกิจกรรมในโรงเรียน สอนให้รักธรรมชาติ สอนให้ช่วยพ่อ- แม่ทำงานบ้าน อบรมการเข้ากลุ่ม และการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

                3.ระบบอุปถัมภ์  ความสัมพันธ์ในลักษณะของการอุปถัมภ์ค้ำจุนกันระหว่างบุคคลในสังคมไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกกันมานาน การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานมักแต่งตั้งจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือคนที่โปรดปรานเป็นพิเศษ โดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การพัฒนาประเทศไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ให้เป็นระบบคุณธรรม ดังเช่นที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศพัฒนา ได้แก่ ยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคล ปฎิบัติต่อบุคคลอย่างเสมอหน้ากันโดยใช้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ยึดมั่นในเส้นทางที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

                4.การฉ้อราษฎร์บังหลวง ในสังคมไทยการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจกรรมบางประเภท การยักยอกเงินค่าธรรมเนียมโดยไม่นำเงินส่งหน่วยงาน การรับเงินค่านายหน้า เมื่อมีการจัดซื้อของให้หน่วยงาน การสมยอมกันในการจัดซื้อการจ้างหรือให้สิทธิในการดำเนินการเพื่อจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และประเทศชาติอย่างแท้จริง ฯลฯ

                การฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่เคยสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้แก่สังคม แต่กลับทำลายศีลธรรมและจริยธรรมของชุมชน ทำให้การจัดสรรและการใช้งบประมาณขาดประสิทธิภาพ ทรัพยากรซึ่งควรจะนำไปใช้สามารถบริการสาธารณสุขที่ดี บริการการศึกษาที่ดี บริการสาธารณูปโภคที่ดี ฯลฯ กลับต้องไปตกอยู่มือของบุคคลจำนวนน้อย ซึ่งจะหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่ดี สำหรับการพัฒาประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ควรสร้างขึ้นคือ การสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นแก่คนไทยตั้งแต่เด็กรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของ การฉ้อราษฎร์บังหลวง สร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนเกี่ยวกับ การฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีมาตรการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงก็ตาม

แนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
                  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ได้ให้ความสำคัญในประเด็นของการอนุรักษ์วัฒนธรรมไว้เช่นเดียวกันคือ

                1. บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

                2. บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

                3. รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปะวิทยาการต่างๆ เร่งรัดพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาวิชาชีพครู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติ

                4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาอบรม และการฝึกอาชีพตามความเหมาะสมและความต้องการภายในท้องถิ่นนั้นและเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอบรมของรัฐ ซึ่งการตัดการศึกษาอบรมภายในท้องถิ่นนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นด้วย

                ดังนั้นการรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยก็คือ

                1. ส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยให้ดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืนและมีพัฒนาการที่ดี

                2. ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต การพัฒนาประเทศทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการป้องกันประเทศ

                3. สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในความสำคัญของวัฒนธรรม ที่มีต่อเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรี ความสามัคคีและความมั่นคงของชาติ

                4. ปฏิบัติตนตามกรอบที่ดีงามของวัฒนธรรมไทย ทั้งต่อคนไทยด้วยกัน และต่อชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะการแสดงต่อชาวต่างชาติจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะทำให้ชาวต่างชาติได้เห็นและเข้าใจวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยแล้ว ยังเป็นการประกาศศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิแห่งชาติที่มีอารยธรรมสูงชาติหนึ่งของโลกด้วย

                5. เผยแพร่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยของทุกท้องถิ่นไปให้ประชาชนไทยทั้งประเทศได้รับรู้กันอย่าง กว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ เห็นคุณค่าและยอมรับวัฒนธรรมของท้องถิ่นซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของกลุ่มชนทุกหมู่เหล่าภายในชาติ

                6. สนับสนุนส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยกับต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ

                7. วางมาตรการให้หน่วยงานของรัฐและของเอกชน ที่ดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย ได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยการระดมสรรพกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมให้มั่นคงเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชน ตลอดจนร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม เพื่อให้วัฒนธรรมมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

                วัฒนธรรมไทยจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยมีการเผยแพร่และสืบทอดต่อกันมา ที่สำคัญคือ คนรุ่นหลังจะต้อง ซึมซับวิถีไทยและศึกษาให้เข้าใจถึงคุณค่า ความหมาย และวิธีปฏิบัติของวัฒนธรรมไทยอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งต้องรู้จักปรับปรุงและพัฒนา ให้เหมาะสมตามกาลสมัย

                ในปัจจุบันได้มีการนำวัฒนธรรมไทยมาใช้ในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น เช่น สมุนไพร การรักษาโรค การช่าง ศิลปะการแสดง ครอบครัว การศึกษา นันทนาการ ศาสนา ภาษาและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเมือง การบริหาร เป็นต้น ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้นำวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยมาใช้มากขึ้นนี้ นับได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้สังคมไทยมีสันติและสงบสุขแล้ว ยังจะเป็นการเผยแพร่เกียรติภูมิแห่งชาติให้นานาชาติได้รับรู้อีกด้วย


                วัฒนธรรมถือเป็นมรดกทางสังคม และเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ วัฒนธรรมที่เข้มแข็งย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความมีเอกราชของชาติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การมีเอกราชของชาติไทย เป็นผลมาจากความเข้มแข็งของวัฒนธรรมไทย ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมไทยจึงมีคุณค่าต่อสังคม ในอันที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนในสังคมรับรู้และเข้าใจถึงความเป็นชาติร่วมกัน วัฒนธรรมไทย เป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อหลอมคนไทยให้มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นพลังส่งผลให้สังคมไทยมีความเจริญเติบโตก้าวหน้าและมีพัฒนาการที่ดี ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อให้คนไทยเข้าใจในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงอนุรักษ์รักษามรดกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ให้คงอยู่เป็นมรดกของชาติสืบไป